วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559

ประทับใจอะไรในวัดพระธรรมกาย

ประทับใจอะไรในวัดพระธรรมกาย...???


ดิฉันจำความรู้สึกวันแรก ที่เหยียบย่างเข้าสู่วัดพระธรรมกายได้ดี...อย่างไม่รู้ลืม

ดิฉันไม่เคยถามตัวเองว่าดิฉันประทับใจอะไรในวัดพระธรรมกาย

เพราะวันแรก...ดิฉันก็ได้แต่บอกตัวเองว่า "ชอบที่นี่จังเลย ที่นี่มีความสุขจังเลย"

ทุกอย่างมีแต่ความน่ารื่นรมย์ อาทิ บรรยากาศสงบ ร่มรื่น สะอาด มีระเบียบ เรียบร้อย

มีข้าวให้รับประทาน ทานกันแบบง่ายๆ 

มีคนที่น่าตายิ้มแย้ม แจ่มใส มีคำพูดที่สุภาพ ไม่มีหยาบคาย

มีธรรมะให้ฟังในเรื่องที่ไม่เคยฟัง

ต่อมาเมื่อดิฉันต้องไปทำงานและอยู่ไกลวัด ดิฉันเล่าให้เพื่อนฟังถึงแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ดังแดนเนรมิตอุปมาเหมือนสมัยพุทธกาล แผ่นดินนี้มีอยู่จริงและอยู่ในประเทศไทย

 แผ่นดินนี้คือ "วัดพระธรรมกาย"

ดิฉันบอกเพื่อนเสมอว่า "ที่ ที่ดิฉันอยู่แล้วมีความสุขที่สุดก็คือวัดพระธรรมกาย"


วันนี้เมื่อถูกถามว่า ประทับใจอะไรในวัดพระธรรมกาย...???
ในฐานะที่เป็นนักเรียนธรรมศึกษามาแล้ว ก็ย้อนกลับมาพิจารณาความรู้สึกที่มีต่อสิ่งที่ได้รับจากวัดพระธรรมกายเปรียบเทียบกับคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือ

1.ดิฉันชอบบรรยากาศที่ร่มรื่น ความสะอาด ความมีระเบียบ นี่คือ อาวาสเป็นที่สบาย
2.ดิฉันชอบที่มาแล้วมีข้าวแจกไม่ต้องเดือดร้อนลำบากไปซื้อหา นี่คือ อาหารเป็นที่สบาย
3.ดิฉันสบายใจที่เห็นผู้คนมากมายแต่ไม่วุ่นวาย ทุกคนมีแต่รอยยิ้ม พูดจากันแต่เรื่องสบายใจ นี่คือ บุคคลเป็นที่สบาย
4.ดิฉันรู้สึกจิตใจสงบกับแนวทางการทำสมาธิแบบ สัมมา อะระหัง และ ได้ฟังธรรมะที่เข้าใจง่ายๆแต่อธิบายลุ่มลึกและสามารถนำไปปฏิบัติไอด้ในชีวิตประจำวัน นี่คือ ธรรมะเป็นที่สบาย

วัดพระธรรมกาย โดย พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย และ คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ท่านสร้างวัดพระธรรมกาย โดยยึดหลัก สัปปายะ ๔ ตรงตามพุทธวิธีที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ทุกประการ 


หลักง่าย ๆ ซึ่งถ้าบ้านใครนำไปใช้บ้านนั้นก็มีความสุขเป็นครอบครัวสวรรค์ ครอบครัวอบอุ่น
วัดใดนำไปใช้วัดนั้นก็จะมีคนเข้าวัดมากมายเหมือนกับวัดพระธรรมกาย
ประเทศใดนำไปใช้ ประเทศนั้นก็เจริญรุ่งเรือง ชนในชาติก็จะอยู่เย็นเป็นสุข

วันนี้ดิฉันอยากบอกผู้บริหารประเทศ อยากบอกคนที่ไม่ชอบวัดพระธรรมกายว่า เปลี่ยนจากความระแวง เปลียนจากการต่อต้าน รวมทั้งบางคนบางกลุ่มเปลี่ยนจากความริษยา มาเป็น นำหลักธรรมวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ซึ่งวัดพระธรรมกายทำให้เห็นแล้วว่าทำได้จริง ดีจริง นำไปใช้กันดีกว่ามั๊ยคะ?




 


วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2559

บุญที่ฉันปลื้มที่สุด

บุญที่ฉันปลื้มที่สุด

ถ้าถามดิฉันว่า..บุญอะไรที่ดิฉันทำแล้ว ปลื๊ม...ปลื้ม..!  มากที่สุด

ก็เยอะอยู่นะคะ หลายอย่าง 

แต่ถ้าถามต่อว่าก่อนนั่งสมาธิ ดิฉันนึกถึงบุญอะไรที่ทำให้เกิดปิติ แล้วทำให้ใจรวมใจหยุดใจนิ่งได้ บุญอะไรที่ระลึกได้ก่อน บุญอะไรที่นึกถึงทีไรก็เห็นภาพชัดใส แจ่มกระจ่างชัดเจน ซาบซึ้งปีติใจทุกครั้ง

ตอบได้เลยว่า บุญจากการกระทำด้วยแรงกาย แรงใจ แรงศรัทธาค่ะ 

ดิฉันเข้าวัดครั้งแรก
ในเดือน ก.ค ๒๕๒๘ และได้รับการชักชวนเข้ามารับบุญช่วยงานวัดในปี ๒๕๒๙ ดิฉันได้เข้ารับการอบรมเป็นวิทยากรแก้วและได้ร่วมกับพี่ๆออกไปทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้แสงสว่างแก่ชาวโลก
 
งานของเราคือการไปสอนเด็กๆ ตามโรงเรียนต่างๆ ในเรื่อง ทาน ศีล ภาวนา 
เราทำงานเป็นทีม ทีมละ ๓ คน คนหนึ่งเป็นพิธีกร คนที่สองบรรยายเรื่องการทำทาน รักษาศีล และ คนที่สามแนะนำการทำสมาธิภาวนาเบื้องต้น  

หากจะถามว่าทำไมวัดพระธรรมกายต้องทำอย่างนี้ ?? 
ก็เพราะว่าหลังจากที่ ภาครัฐได้ถอดวิชาหน้าที่ศีลธรรมออกจากระบบการศึกษา พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย ท่านมองเห็นภัยร้ายต่อพระพุทธศาสนา ต่อเยาวชนไทย และประเทศไทย เด็กไทยจะไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่รู้จักศีล ๕ คืออะไร ? และปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นซึ่งสมัยนั้นไม่มีใครเชื่อ
มีแต่คิดว่าวัดพระธรรมกายสยายปีกบ้างล่ะ หาสาวกบ้างล่ะ พุทธพาณิชย์บ้างละ 
แต่หลวงพ่อท่านไม่เคยโต้ตอบ มุ่งมั่นทำความดีต่อไปและยิ่งๆขึ้นไป และแล้ววันนี้ภาพภัยร้ายต่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นเป็นที่ชัดเจนแล้วอย่างที่เราได้เห็นๆกัน

นอกจากการไปบรรยายตามโรงเรียนต่าง ๆ แล้ว เราก็ไปชักชวน ให้กำลังใจ ประสานงานกับกัลยาณมิตรในท้องถิ่นร่วมกับโรงเรียนจัดธุดงค์ ชักชวนชาวบ้านมาอยู่ธุดงค์รักษาศีลปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ

ปลูกฝังศีลธรรมให้ทั้งเด็กในโรงเรียนและผู้ใหญ่ ในชุมชน นอกจากนี้ทีมของเราเคยมีโอกาสได้เข้าไปบรรยายในเรือนจำแห่งหนึ่งด้วย ดิฉันได้เห็นนักโทษบางคนมีโซ่ตรวนที่ขา บางคนฟังเราบรรยายแล้วเขาก็ร้องไห้

สมัยนั้นเราทำงานกันอย่างลำบากมากค่ะ เดินทางโดยรถเมล์ รถบัส รถไฟธรรมดา บางทีเช้าอยู่จังหวัดนี้
กลางวันอยู่จังหวัดนั้น ค่ำนอนอีกจังหวัดหนึ่ง 

นอนที่บ้านผู้นำบุญบ้าง ตามโรงเรียนบ้าง ห้องสมุดประชาชนบ้าง  บางทีต้องอาบน้ำในห้องส้วมของนักเรียนก็เคยมาแล้ว ซึ่งต้องใช้ขันล้างก้นตักน้ำจากถังน้ำที่ใช้ชำระก้นมาล้างหน้าก็เคยมาแล้ว บอกตรงๆว่าตอนนั้นก็ยืนทำใจอยู่นานค่ะ แต่ด้วยความที่เราเป็นชาววัดพระธรรมกายเป็นลูกหลวงพ่อธัมมชโยเป็นหลานคุณยายอาจารย์จันทร์ ขนนกยูง ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเป็นเช่นไร เมื่อก้าวออกไปทำหน้าที่ไม่ว่าจะพบเจออะไร เราก็ บ่ยั่น เจอความสกปรกเราก็ทำให้สะอาดด้วยวัฒนธรรมของคุณยาย แต่ต่อมาในการเดินทางไปต่างจังหวัดดิฉันก็ขอมีของใช้ประจำตัวเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ ขันน้ำพลาสติกใบเล็กๆ ติดกระเป๋าเสื้อผ้าไปด้วยค่ะ

ตอนนั้นก็มีคนกล่าวหาเราว่าวัดพระธรรมกาย รวย กินอาหารภัตตาคารเลิศรสบ้าง ร้านหรูบ้าง
อภิโธ่..อภิถัง...นาน...ๆ..จะมีเจ้าภาพบางจังหวัดที่เราไปทำหน้าที่นั้น เขาเห็นเราทุ่มเททำงานกันอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เขาก็ลงขันกันพาเราไปทานข้าวด้วยกันสักมื้อหนึ่ง ก็ว่ากันซะอย่างกับ เรากินเพชรกินพลอยหมดประเทศ

สมัยนั้นที่วัดวันอาทิตย์ทานข้าวกับน้ำพริกไข่เค็ม บางอาทิตย์ยำปลากระป๋อง ส่วนที่สำนักงานเราก็ทานข้าวกับผัดผักบุ้งบ้าง ผัดคะน้าบ้าง ไข่เจียวบ้าง นั่งกับพื้นทานด้วยกันเป็นวงๆ วงละ ๔-๕ คนมีกับข้าวอยู่แค่ ๒-๓ อย่าง ตักกันอย่างเกรงอกเกรงใจ แต่ก็แสนเอร็ดอร่อยและแสนจะมีความสุข ทานกันแบบนี้เป็นประจำจนแทบจะเป็นโรคขาดสารอาหาร แถมพวกเรายังรักษาศีล ๘ ไม่ทานข้าวเย็น สมัยนั้นน้ำปานะมีแค่ น้ำเต้าหู้ ซึ่งมีเจ้าภาพท่านหนึ่งต้มมาเลี้ยงพวกเราทุกวัน  
พวกเราก็อยู่และทำงานกันอย่างมีความสุขมาก มีความรักสามัคคีกลมเกลียวกันเสมอมา และพี่น้องกัลยาณมิตรก็มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นๆ แม้บางคนจะมีภาระครอบครัวจำต้องออกไปทำงานข้างนอกแต่ก็พบว่าจำนวนมากก็ยังมาวัดเป็นชาววัดพระธรรมกายถึงปัจจุบันนี้ (ถึงตรงนี้อดไม่ได้ต้องขออนุญาตแทรกนิดนึงนะคะว่า คุณมโน ที่อ้างว่าเป็นศิษย์เอกนั้นดิฉันไม่เคยเห็นคนคนนี้มาใช้ชีวิตอยู่ในวัดร่วมกับพวกเราเลยค่ะ และไม่เคยเห็นทำการงานอะไร นอกจากได้ชื่อว่าเป็นพระรูปหนึ่งของวัดที่ได้ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ แล้วกลับมาขอเงินหลวงพ่อ เมื่อไม่ได้อย่างใจก็เป็นแบบที่เห็นๆกันในวันนี้ ก็แค่นั้น)
การออกไปทำงานข้างนอกเราก็ประหยัดกันสุดๆ และไม่เคยไปเรี่ยไร ไม่เคยรับค่าจ้างบรรยายธรรม 
แต่เราก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นพุทธพาณิชย์

ดิฉันก็ได้แต่คิดว่า เออหนอ..! ช่างคิดกันไปได้

หลวงพ่อสอนให้พวกเราท่องคุณสมบัติของกัลยาณมิตร และ โอวาทปาฏิโมกข์.."ขนฺตี ปรมฺ ตโปตี ติกขา ความอดทนคือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง...อนูปวาโท..การไม่เข้าไปว่าร้ายกันหนึ่ง...ฯ"

หลวงพ่อบอกว่าชีวิตเราสั้น เดี๋ยวก็วันเดี๋ยวก็คืนเดี๋ยวก็หมดเวลาของชีวิตแล้ว ให้เราเร่งทำแต่ความดี มุ่งเอาบุญเป็นที่ตั้งอย่าไปเสียเวลากับสิ่งอื่น ชาวโลกที่เขาว่าเรานั้นเพราะเขาไม่รู้ ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องเป็นกัลยาณมิตร เป็นผู้ให้แสงสว่างแก่ชาวโลก บุญอะไรที่เราทำด้วยความยากลำบากเราจะปลื้มมาก เราจะจำได้ในวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะในเวลาที่เราอยู่บนเตียงผู้ป่วยไม่มีใครช่วยเราได้นอกจากบุญ

บุญเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งที่ระลึกของเราอย่างแท้จริง

ถึงวันนี้แม้ยังไม่ได้อยู่บนเตียงผู้ป่วย แต่ดิฉันก็ได้ประจักษ์ว่าเวลานั้นผ่านไปรวดเร็วมาก ชีวิตมนุษย์่างสั้นน้อยนิด บุญที่เราได้ทำอย่างทุ่มเททั้งกายและใจ ทำความดีเพื่อความดี ด้วยความยากลำบาก เอาชีวิตเป็นเดิมพันนั้น ปลื้มจริงๆ ปลื้มที่สุดค่ะ ดิฉันมีความสุขและภาคภูมิใจ และทำให้เข้าใจรวมไปถึงทำไมหลวงพ่อจึงบอกให้ทำบุญอย่างทุ่ม ทำหมดใจแต่ไม่หมดตัวค่ะ





วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559

ทุกดวงใจผูกไว้ด้วยกัน..ทุกวันอาทิตย์ต้นเดือน ชาววัดพระธรรมกาย        

ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของผืนแผ่นดินไทย และ ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของโลกใบนี้  เรามีนัดกันทุกวันอาทิตย์ต้นเดือน ที่ใจเราจะเชื่อมโยงไป ณ จุดเดียวกัน คือ วัดพระธรรมกาย เราทุกคนจะน้อมใจไปถึงพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยพร้อมเพรียงกัน นั่นคือ .. 

"พิธีบูชาข้าวพระ"

 
 

สิ่งที่ดิฉันได้รับจากวัดพระธรรมกาย

สิ่งที่ดิฉันได้รับจากวัดพระธรรมกาย

ทุกคนเกิดมาต่างแสวงหาความสุขด้วยกันทั้งนั้น

มีครอบครัวก็หวังที่จะมีความสุข เมื่อไม่สมหวังก็เลิกร้างกันไป ฉันใดก็ฉันนั้น

มีคนจำนวนมากมายไปวัดพระธรรมกาย สิบปีบ้าง ยี่สิบปีบ้าง หรือมากกว่านี้ก็มี 

ถ้าไปวัดพระธรรมกายแล้วไม่มีความสุข เขาคงไม่ไปกันอย่างมากมายและอย่างยาวนาน

ดิฉันเองรู้จักและไปวัดพระธรรมกาย เป็นเวลา ๓๐ ปีแล้วค่ะ
บางคนก็บอกว่าถูกล้างสมองบ้าง งมงายบ้าง ฯลฯ
จะถูกกล่าวหาอย่างไรก็ตาม พวกเราชาววัดพระธรรมกายก็มีความสุขมากกว่าพวกคนที่กล่าวหาเราและไม่เคยไปวัด เพราะชีวิตของเขาเหล่านั้นเต็มไปด้วยความสับสน ร้อนระทมไปด้วยความทุกข์

น่าแปลกนะคะ ในขณะที่เขาว่าวัดพระธรรมกายนั้น แต่เขาก็ชมพวกเราชาววัดพระธรรมกายด้วยว่าเป็นคนดี มีความเคารพ สุภาพ อ่อนน้อม มีระเบียบ มีวินัย ซื่อสัตย์ และมีความกตัญญู

ดิฉันจึงอยากจะบอกว่า ร่างกาย เลือดเนื้อที่ก่อร่างสร้างเป็นชีวิตหนึ่งนี้เพราะคุณพ่อคุณแม่ให้ อีกทั้งความรู้ที่มีความดีพื้นฐานที่ได้ก็จากคุณพ่อคุณแม่และคุณครูบาอาจารย์ แต่วัดพระธรรมกายก็ต่อยอดให้อย่างมากมาย กว้างขวาง และลึกซึ้งขึ้นไปอีก 

วัดพระธรรมกายสอนให้รู้ซึ้งถึงพระคุณของคุณพ่อคุณแม่ คุณครูบาอาจารย์  คุณของพระรัตนตรัย คุณของประเทศชาติ สอนให้มีวินัย เคารพ อดทน สอนให้รักษาวัฒนธรรมอันดีงามของชาวไทยซึ่งมีรากเง่ามาจากพระพุทธศาสนานั่นเอง มิใช่แค่สอนให้รู้คุณ และให้ธำรงรักษาเท่านั้น แต่วัดพระธรรมกายยังสอนวิธีที่จะตอบแทนให้ตอบแทนพระคุณทั้งหมดนั้นด้วย 
นอกจากนี้วัดพระธรรมกายยังได้สอนกฏแห่งกรรม ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว สอนให้รู้คุณค่าของการเกิดมาเป็นมนุษย์ สอนให้รู้เป้าหมายของการเกิดมา สอนให้ดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงสอนไว้คือ..อย่าได้ประมาทในชีวิต 

ชีวิตที่ไม่ประมาทก็ต้องสั่งสมบุญกุศลคือ ทาน ศีล ภาวนา ละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

อยากบอกว่า ชีวิตของดิฉันมีความสุข มีความหมาย มีคุณค่า ก็เพราะวัดพระธรรมกาย

ถ้า....
วัดพระธรรมกาย ล้างสมองแล้วทำให้เกิดคนดีที่มีความสุข ภาครัฐน่าจะดีใจและควรจะสนับสนุนนะคะ ประเทศไทยจะได้สงบร่มเย็นเป็นสุขค่ะ










วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2559

มาวัดพระธรรมกายครั้งแรก

มาวัดพระธรรมกายครั้งแรก ได้อย่างไร..?
                                 

        ดิฉันมีความผูกพันกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็กๆ มีความสุขเวลาไปวัดกับแม่ ชอบทำบุญ และสนใจการปฏิบัติธรรม อยากรู้จักการทำสมาธิ  เคยได้ยินแนวปฏิบัติแบบต่างๆ มาบ้างเหมือนกัน แต่รู้สึกว่ายังไม่ค่อยโดนใจ

        ในปี ๒๕๒๘   ได้ยินชื่อ"วัด พระธรรมกาย" เป็นครั้งแรกทางสปอตโทรทัศน์ เชิญชวนไปร่วมงานบวช ตอนนั้นไม่ทราบหรอกค่ะว่ามีการสอนทำสมาธิด้วย แต่รู้สึกว่า"ชื่อวัด"น่าสนใจ และในสปอตประชาสัมพันธ์ นั้น ยังได้บอกการเดินทางไปวัดด้วย แต่งานบวชครั้งนั้นดิฉันก็ยังไม่ได้ไปวัดพระธรรมกาย

        ต่อมาอีกไม่นานนักก็ลองมาวัดพระธรรมกาย เป็นครั้งแรกคนเดียว โดยรถบัส ขึ้นที่หน้าสถานีโทรทัศน์ช่อง ๕ สนามเป้า

        สิ่งแรกที่รู้จักวัดพระธรรมกาย ก่อนที่จะไปถึงวัดจริงๆ ก็คือต้องสวมชุดขาวหรืออย่างน้อยเสื้อขาว
        เส้นทางสมัยนั้นค่อนข้างทุรกันดาร ทางเข้าวัดจากบางขันธ์เข้าไปเป็นถนนเล็กๆ ขนานไปกับคลองเล็กๆ ที่อยู่ซ้ายมือ ภาพที่ดิฉันจำได้ดีคือ ชาวบ้านนุ่งกระโจมอกใช้ขันตักน้ำในคลองนั้นอาบ
ส่วนขวามือจะเป็นสวนส้มเป็นส่วนใหญ่

       เมื่อใกล้ถึงวัดจะเห็นความเขียวขจีของต้นไม้ และ น้ำพุ ที่พุ่งขึ้นสูงสู่ฟ้ามองเห็นมาแต่ไกล ก็ทำให้รู้สึกตื่นเต้นว่าถึงแล้วๆ
       
       ก้าวแรกที่ลงจากรถ เขาก็ให้เข้าแถวเดินเป็นระเบียบเรียบร้อย ไปนั่งริมสระน้ำ ข้างศาลาดุสิต เนื่องจากรถคันที่ดิฉันนั่งมานั้นเป็นคันสุดท้ายจึงมาถึงช้าไปหน่อย พิธีได้เริ่มไปก่อนแล้ว วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ต้นเดือนพอดี มีคนไปเป็นจำนวนมาก นั่งกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ในชุดขาวสวดมนต์อย่างพร้อมเพรียงไพเราะ  เสร็จแล้ว ก็ให้นั่งหลับตาทำสมาธิ

      เป็นครั้งแรกที่ดิฉันได้ยินคำว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ให้นึกถึงดวงแก้วหรือองค์พระ และภาวนาคำว่า "สัมมา อะระหัง ๆ"

      ทุกถ้อยคำของหลวงพ่อ ล้วนแปลกใหม่ ไม่เคยได้ยินได้ฟังที่ไหนมาก่อนเลย ดิฉันบอกตัวเองว่า "ใช่แล้ว...! แบบนี้แหละ ที่อยากได้ยิน สมาธิแบบนี้แหละที่ใจใฝ่หา"

      ดิฉันมีความสุข ความสบายใจ และเพลิดเพลินอยู่ในวัด ตลอดทั้งวัน

      ดิฉันไม่ได้สนใจว่า เสียงที่นำนั่งสมาธินั้นคือใคร เจ้าอาวาสชื่ออะไร รู้สึกเพียงว่าดิฉันชอบที่นี่จังเลย

      วันนั้นดิฉันกลับบ้าน ด้วยความรู้สึกที่ประทับใจล้นปรี่
๑.ประทับใจกับการสอนสมาธิของวัดพระธรรมกายมากที่สุด
 เรียกว่าดิฉันถูกจริตกับการทำสมาธิแบบ สัมมา อะระหัง ก็แล้วกัน นะคะ ดิฉันพบว่าการทำสมาธิแบบนี้คือทำใจให้หยุดให้นิ่ง  แบบนี้ทำให้ดิฉันมีความสุข
๒.ประทับใจกับความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความร่มรื่น สงบ ร่มเย็น
๓.ประทับใจกับรอยยิ้มบนใบหน้าของทุกๆ คน และการพูดจากันอย่างไพเราะ
๔.ประทับใจที่นั่งรถฟรีทั้งไปและกลับ ทานข้าวก็ฟรี

     วันนั้น ดิฉันยังเป็นนักศึกษา จำได้ดีว่ามาวัดครั้งแรกในวันนั้นดิฉันได้ทำบุญไป ๒๐ บาท ดิฉันอยากทำบุญเอง ไม่ได้มีใครบอก ไม่ได้มีใครบังคับเลยว่าจะต้องทำบุญเท่านั้นเท่านี้

     จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ๓๐ ปีแล้ว ที่ดิฉันไปวัดพระธรรมกาย หลายสิ่งหลายอย่างวันนี้เปลี่ยนไปมาก
สถานที่กว้างขวางขึ้น  จำนวนสาธุชนที่เลื่อมใสศรัทธามีจำนวนมากขึ้น พระภิกษุและสามเณรก็มากขึ้น
แต่สิ่งที่วัดพระธรรมกายไม่เคยเปลี่ยนเลยคือ ความสงบ ความสะอาด ความมีระเบียบวินัย การรักษาวัฒนธรรมคุณยาย คือใครมาวัด มาร้อยเลี้ยงร้อย มาล้านเลี้ยงล้าน ไม่ว่าวัดจะเจริญไปแค่ไหน ไม่ว่าหลวงพ่อจะอายุพรรษากาลผ่านไปอย่างไร ใครจะกล่าวหาหรือว่าสรรเสริญ ท่านก็ยังมีเมตตาต่อทุกคนและแน่วแน่ที่จะสอนสมาธิให้ทุกคนเข้าถึงความสุขภายใน สร้างพระให้เป็นพระแท้ สร้างคนให้เป็นคนดีของครอบครัว และของประเทศชาติ วัดพระธรรมกายไม่เคยไปจี้ถามว่าใครว่าทำบุญหรือเปล่า ทำเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นมหาเศรษฐี หรือเป็นคนธรรมดาๆอย่างดิฉัน ก็นำปัจจัยใส่ซองเดินเข้าไปถวายหลวงพ่อธัมมโย ได้เหมือนกัน พร้อมๆ กัน และท่านก็ให้พรทุกคนด้วยุ้อยคำเดียวกัน
     ดิฉัน อยากบอกชาวโลกและขอยืนยันตรงนี้ว่า วัดพระธรรมกายไม่เคยบังคับให้ใครทำบุญ
ใครทำมากเราต่างร่วมยินดี และอนุโมทนา ใครทำน้อยหรือไม่ทำเลยเราก็ยังต้อนรับและรักใคร่กันเป็นเสมือนพี่น้องกัน ค่ะ
    บุญ ใครทำ ใครก็ได้ค่ะ